Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – อัลบั้มซาวนด์แทร็ก ‘Mank’ อีกหนึ่งงานดี ๆ จาก เทรนต์ เรซเนอร์ และแอตติคัส รอสส์

MANK: ORIGINAL MUSIC SCORE / Music Composed by Trent Reznor and Atticus Ross
[The Null Corporation]

ถ้าไม่เรียกว่าเป็นปีทองสำหรับการทำงานของเทรนท์ เรซเนอร์ และแอตติคัส รอสส์ อย่างน้อยปี 2020 ก็น่าจะเป็นปีที่ทำให้ได้เห็นศักยภาพในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ของทั้งคู่ที่ขยายขอบเขตออกไปกว้างไกลกว่าเดิม จากงานอิเล็กทรอนิกส์หม่นๆ ใน The Social Network และงานในรูปแบบเดียวกันต่อจากนั้นอีกหลายๆ เรื่อง มาสู่งานที่มีชีวิตชีวา ที่ทั้งคู่ทำให้กับ Soul แอนิเมชันของดิสนีย์/ พิกซาร์ และเรื่องนี้ Mank ที่เป็นงานดนตรีในแบบบิกแบนด์ ซึ่งยากจะเชื่อว่าเป็นผลงานของคนคู่นี้

Mank เป็นการทำงานให้กับเดวิด ฟินเชอร์เรื่องที่สี่แล้วของเรซเนอร์กับรอสส์ ซึ่งเริ่มต้นด้วย The Social Network เมื่อปี 2010 ที่นอกจากจะเป็นใบเบิกทางให้กับการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ของทั้งคู่ อย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว ยังเป็นงานที่ทำให้เรซเนอร์กับรอสส์ได้รับรางวัลออสการ์ จากการเข้าชิงเพียงครั้งแรกเท่านั้น งานเรื่องที่สองที่ทั้งคู่ทำกับฟินเชอร์ก็คือ แล้วก็ตามด้วย The Girl with the Dragon Tattoo ในปี 2011 และ Gone Girl ในปี 2014 ซึ่งทั้งหมดแนวทางของดนตรียังเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เป็นงานอิเล็กทรอนิกส์ ฟังกดดัน หม่น ทึม ที่รายละเอียดมีความแตกต่างกันไปตามเรื่องราว, บรรยากาศ และโทนของหนัง ซึ่งไม่ได้ชัดเจนอะไรมากมายนัก

แอตติคัส รอสส์ (ซ้าย) กับเทรนต์ เรซเนอร์

จนมาถึง Soul เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สะดุดหูมากขึ้น ทั้งในเรื่องของดนตรี และโทนของงาน แม้จะยังเป็นงานอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ฟังมีชีวิตชีวา มีความสดใสมากขึ้น ซึ่งกับรับเข้ากับเรื่องราวของหนังเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการที่ดนตรีประกอบมีการแบ่งสัดส่วนทั้งในการทำงานและใช้งานชัดเจน ระหว่างดนตรีแจ๊ซซ์ของจอน บาสติเต และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของเรซเนอร์กับรอสส์

ใน Mank ที่เรื่องราวย้อนไปไกลถึงยุค ‘30s กับเรื่องราวความเป็นมาของการเขียนบทภาพยนตร์ หนังที่ได้ชื่อว่า ‘ดี’ ที่สุดในโลกจากหลายๆ สถาบัน Citizen Kane เรซเนอร์กับรอสส์แทบจะจับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ไปใส่เก็บไว้ในตู้เลยก็ว่าได้ เมื่อทั้งคู่เลือกใช้เครื่องดนตรีที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกับเรื่องราวในหนังเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่า, กลอง, เปียโน หรือเครื่องสาย แล้วบรรเลงโดยวงบิกแบนด์ ที่นอกจากจะทำให้ได้บรรยากาศของยุคสมัยในเรื่องแล้ว ยังสามารถสร้างสีสันให้กับหนังที่ทำออกมาเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำอีกด้วย กับการที่หลายๆ ธีม เรียบเรียงออกมาเป็นงานจังหวะสวิง ที่คึกคัก สนุกสนาน เช่น “A Fool’s Paradise”, “Once More Unto the Breach” หรือ “Cowboys and Indians” ที่ธีมหลัง ยังมาพร้อมความโดดเด่นของจังหวะดนตรี ที่เป็นลีลาแบบงานชนเผ่า บางธีมก็ฟังรื่นรมย์ สวยงาม อย่าง “Every Thing You Do” ส่วน “You Wanted to See Me?” ก็ถือว่าเป็นงานสวิงเท่ๆ ที่ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้มีโอกาสโชว์ของ ไม่ต่างไปจากเพลงของศิลปินแจ๊ซซ์สักรายเลยด้วยซ้ำ

ที่ไม่ใช่แค่แสดงให้เห็นขอบเขตการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมของเรซเนอร์และรอสส์ แต่ยังเป็นความน่าประหลาดใจที่ได้ยินงานในลักษณะนี้จากทั้งคู่ ที่หากเปิดสกอร์เหล่านี้ฟัง แล้วไม่รู้ข้อมูลมาก่อน ก็เป็นไปได้มากว่า ชื่อของคู่หูคู่นี้อาจจะไม่แว่บเข้ามาในหัวเลยด้วยซ้ำ หากคิดไปถึงว่า ใครกันที่ทำดนตรีเหล่านี้

แล้วกับรูปแบบของเครื่องดนตรีที่เปลี่ยนไป ยังทำให้งานของเรซเนอร์กับรอสส์ที่มีอารมณ์ในหม่นทึม ฟังแตกต่างจากเดิมไปพร้อมๆ กัน เช่น “Time Running Out” เมื่อดนตรีมีพื้นที่ว่างและไม่บีบอัดความรู้สึกมากนัก หรือ “Mank-Heim” ที่ใช้เปียโนเป็นหลัก แล้วก็มีเสียงเครื่องเป่าคลอข้างหลังเป็นบรรยากาศ ที่ด้วยโครงสร้างก็ละม้ายงานที่พวกเขาทำให้กับหนังเรื่องอื่นๆ ของฟินเชอร์ ที่ให้ซาวนด์เอ็ฟเฟ็คท์อยู่ข้างหลัง ข้างหน้าก็เป็นงานเปียโนไฟฟ้า แต่เมื่อเครื่องดนตรีเปลี่ยน แม้อารมณ์หรือบรรยากาศจะใกล้เคียงกัน แต่งานใน Mank ก็ฟังแล้วสบายตัวมากกว่า

โดยเฉพาะ “San Simeon Waltz” ที่ฟังละเมียดละไม และเนื้อดนตรีมีความ ‘อุ่น’ มากขึ้น ทั้งคู่ผสมผสานบรรยากาศแบบที่เคยได้ยินในงานเดิมๆ เข้ากับจังหวะวอลท์ซ และใช้เครื่องดนตรีของวงบิกแบนด์รวมไปถึงกลุ่มเครื่องสาย มาทำให้กลายเป็นงานสวยผิดหูไปเลย

ที่น่าสนใจก็คือ ในบางธีมอย่าง “The Dark Knight of the Soul” ตัวสกอร์ก็มาพร้อมกับซาวนด์ที่ทำให้นึกถึงดนตรีในหนังยุคเก่า รวมไปถึงธีมที่เด่นที่สุด และให้ความรู้สึกเป็นเหมือนแม่งานของธีมอื่นๆ “Welcome to Victorville” ที่ทำให้นึกถึงงานสกอร์ของเบอร์นาร์ด เฮอร์มานขึ้นมา โดยเฉพาะการใช้เสียงเครื่องเป่า กับกลุ่มเครื่องสาย มาสร้างความลึกลับ ชวนพิศวงให้กับงาน ที่การใช้ธีมนี้มาเปิดอัลบัม และตัวหนัง เป็นการนำผู้ชมเข้าสู่เรื่องราว ที่มากไปด้วยความลึกลับ และชีวิตที่น่าพิศวงของแมนคิวิคซ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

และไม่น่าแปลกใจเลยหากงานของเรซเนอร์และรอสส์เรื่องนี้ จะทำให้ทั้งคู่ได้รางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบตัวที่สอง แต่จะประหลาดใจสุดๆ ถ้างานของทั้งคู่ใน Mank จะไม่ติดโผห้าชื่อสุดท้ายของรางวัลดนตรีประกอบ

นี่คือของมันต้องมี ทั้งในฐานะของคนฟังดนตรีประกอบภาพยนตร์ และรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล

Album track list: 1. Welcome to Victorville (2:15) 2. Trapped! (1:17) 3. All This Time (2:01) 4. Enter Menace (0:48) 5. First Dictation (2:23) 6. A Fool’s Paradise (1:33) 7. Once More Unto the Breach (2:05) 8. About Something (0:54) 9. Glendale Station (1:16) 10. What’s at Stake? (0:53) 11. Every Thing You Do (3:01) 12. Cowboys and Indians (1:20) 13. Presumed Lost (1:09) 14. (If Only You Could) Save Me (3:18) 15. Means of Escape (0:49) 16. All This Time (A White Parasol) (0:34) 17. M.G.M. (2:51) 18. A Respectable Bribe (1:03) 19. I, Governor of California (1:32) 20. A Leaden Silence (0:54) 21. San Simeon Waltz (4:55) 22. Time Running Out (0:44) 23. Mank-heim (1:24) 24. Lend Me a Buck? (1:20) 25. You Wanted to See Me? (1:03) 26. In Your Arms Again (3:18) 27. The Dark Night of the Soul (1:09) 28. Clouds Gather (0:13) 29. Way Back When (3:19) 30. An Idea Takes Hold (3:40) 31. Marion’s Exit (3:18) 32. Absolution (1:05) 33. Scenes from Election Night (4:23) 34. Election Night-mare (1:31) 35. All This Time (Dance Interrupted) (1:01) 36. All This Time (Victorious) (1:12) 37. I’m Eve (0:32) 38. A Rare Bird (2:10) 39. Look at What We Did (2:30) 40. Menace Returns (0:33) 41. Forgive Me (2:15) 42. Final Regards (1:11) 43. Where Else Would I Be? (1:04) 44. The Organ Grinder (1:52) 45. All This Time (Not No More) (1:13) 46. Costume Party (1:10) 47. Dulcinea (0:37) 48. Shoot-out at the OK Corral (1:42) 49. The Organ Grinder’s Monkey (2:24) 50. An Act of Purging Violence (0:38) 51. All This Time (Happily Ever After) (4:45) 52. A Rare Bird (Reprise) (2:26) TOTAL TIME: 93 Minutes

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1321 ปักษ์แรกกุมภาพันธ์​ 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.