FEATURESMusic Features

เรื่องเล่าชาวร็อค 13 วันในหัวโขน The Beatles ของจิมมี นิคอล

ใครๆ ก็อยากเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีระดับตำนาน โดยเฉพาะวงที่สร้างสรรค์ผลงานอมตะเอาไว้มากมายอย่าง เดอะ บีเทิลส์ แต่อาจจะมีบางรายที่เป็นข้อยกเว้น และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ จิมมี นิคอล (Jimmie Nicol) ที่การได้เป็นส่วนหนึ่งของสี่เต่าทองคือช่วงเวลาอันแสนเศร้าของเขา

เดือนมิถุนายน 1964 กระแสคลั่งเดอะ บีเทิลส์พุ่งสูงสุด วงกำลังเตรียมออกทัวร์ครั้งแรก ที่เดนมาร์ค, เนเธอร์แลนด์, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย และนิว ซีแลนด์ แต่แล้วในวันที่ 3 มิถุนาฯ ก่อนออกเดินทางแค่วันเดียว ขณะที่กำลังถ่ายภาพวง ริงโก สตาร์ร์ (Ringo Starr) ก็ทรุดฮวบลงไป เขาถูกส่งไปโรงพยาบาลและต้องพักรักษาตัวด้วยอาการทอนซิลอักเสบ กับห้องพักโรงแรมรวมไปถึงสถานที่แสดงที่จองไว้ แล้วบัตรเข้าชมก็ขายไปไม่น้อย ไบรอัน เอ็พสไตน์ (Brian Epstein) ผู้จัดการวงยืนยันว่า การยกเลิกทัวร์จะเป็นเรื่องหายนะทางการเงิน

ทางออกก็คือ หาคนมาแทนสตาร์ร์ เอ็พสไตน์เชื่อว่าสมาชิกทั้งสามคนของเดอะ บีเทิลส์น่าจะโอเคกับตัวแทน แต่เขาจะไปหานักดนตรีที่มีความสามารถพอที่จะเล่นสนับสนุนวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมหาศาลวงนี้ และสวมใส่เสื้อผ้าที่สตาร์ร์ต้องใส่บนเวทีได้อย่างเหมาะเจาะจากที่ไหนล่ะ? จอห์น เล็นน็อน (John Lennon) และพอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) ยอมรับว่าการจ้างใครมาแทนเป็นเรื่องจำเป็น แต่จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) ไม่โอเคกับความคิดนี้

“พวกเขาเกือบไม่ไปทัวร์ออสเตรเลียแล้ว” จอร์จ มาร์ติน (George Martin) โปรดิวเซอร์ของวงเล่าในสารคดีเรื่อง Anthology “จอร์จเป็นคนยึดมั่นมากๆ เขาบอกว่า ‘ถ้าริงโกไม่อยู่ในวง มันก็ไม่ใช่เดอะ บีเทิลส์ ผมหาเหตุผลที่เราควรไปเล่นไม่พบ และผมก็จะไม่ไป’ ทำให้ไบรอันกับผมต้องกล่อมเขาอย่างหนัก โดยบอกว่า ถ้าเขาไม่ไปมันจะให้ทุกๆ คนแย่กันหมด”

แล้วจิมมี นิคอล มือกลองชาวลอนดอนวัย 24 ปีก็ก้าวเข้ามา หลังเอ็พสไตน์ประทับใจงานในสตูดิโอของเขา แม็คคาร์ทนีย์รู้จักนิคอลอยู่แล้ว เดอะ บีเทิลส์เองก็เคยดูการแสดงของเขากับวง Georgie Fame and the Blue Flames แล้วเขายังเล่นกลองในกับสามซิงเกิลที่ออกมาตอนปลายยุค 50 ของ Colin Hicks and the Cabin Boysอีกด้วย

หลังเล่นทดสอบไป 6 เพลง นิคอลก็ถูกจ้าง เขาต้องตัดผมทรงเดียวกับพวกเดอะ บีเทิลส์ และเก็บข้าวของเพื่อเดินทางไปเดนมาร์คในวันรุ่งขึ้น ที่โรงพยาบาลสตาร์ร์นึกถึงตอนที่เขามาแทนพีท เบสท์ (Pete Best) มือกลองคนก่อนของวงเมื่อสองปีก่อนขึ้นมา “มันแปลกมากๆ พวกเขาไปโดยที่ไม่มีผม” สตาร์ร์เล่าในสารคดี Anthology “พวกเขาเลือกจิมมี นิคอล และผมคิดว่าพวกเขาคงไม่รักผมอีกแล้ว นั่นคือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผม”

นิคอลได้เป็นเดอะ บีเทิลส์อยู่ 13 วัน เขามีส่วนร่วมในงานแถลงข่าวและเพลินไปกับการกรี๊ดกร๊าดจากแฟนๆ ได้เล่นคอนเสิร์ต 7 โชว์ กับบันทึกเทปรายการอีก 1 เทป ในฐานะมือกลองของเดอะ บีเทิลส์ “ก่อนจะเป็นเดอะ บีเทิลส์ ไม่เคยมีสาวไหนมาแลผมเลย” นิคอลเล่า “แล้วหลังจากนั้น ตอนที่ผมใส่สูทและนั่งในเบาะหลังรถลีมูซีนกับจอห์น เล็นน็อนและพอล แม็คคาร์ทนีย์ พวกสาวๆ ถึงกับยอมตายขอแค่ให้ได้สัมผัสผม”

สตาร์ร์ออกจากโรงพยาบาล แล้วมาหาวงที่เมลเบิร์น และขึ้นเล่นครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งวันถัดมานิคอลก็ได้ร่วมให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ในฐานะเดอะ บีเทิลส์เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ไปที่สนามบิน กลับบ้านเพียงลำพัง ก่อนจะจากไป เอ็พสไตน์มอบนาฬิกาเรือนทอง ที่สลักคำว่า “จากเดอะ บีเทิลส์ และไบรอัน เอ็พสไตน์ แด่ จิมมี ด้วยความชื่นชมและขอบคุณ” ให้กับเขา

จิม เบอร์เคนสตัดท์ นักเขียนที่ขุดคุ้ยชีวิตของนิคอล ในหนังสือ The Beatle Who Vanished ที่ติดอันดับขายดีบนเว็บอะเมซอนบอกว่า นิคอลเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ในฐานะตัวแทนของสตารร์

“เรื่องการเข้าสังคม เขาเข้ากับวงได้ดี ในทางดนตรีเขาก็ไปกับวงได้อย่างรวดเร็ว” เบอร์เกนสตัดท์ เล่า “ในการแสดงที่เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ค เขาดูกังวลนิดหน่อยและพยายามเล่นแบบสี่ส่วนสี่ จอห์น เล็นน็อน (John Lennon) หันมาหาเขาบ่อยๆ และแสดงให้เขาเห็นจังหวะสตรัมกีตาร์ที่เป็นจังหวะสองส่วนสี่ของตัวเอง เพื่อจิมมีจะได้เล่นตาม เพราะเสียงของแฟนๆ ดังมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จอห์นทำกับริงโกด้วยเช่นกัน

“จากนั้นพวกเขาก็ไปฮ่องกง แล้วไปเล่นที่อเดเลด, ออสเตรเลีย จิมมีรู้คำตอบแล้ว และเริ่มเติมลูกเล่นของตัวเองเข้ามา” เบอร์เคนสตัดท์ เสริม “พอเพลงจบ จอห์น, พอล กับจอร์จ โค้งให้คนดู จิมมีจะรัวกลองขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนดูปรบมือดังขึ้นอีก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับริงโก ริงโกจะหยุดเล่นเหมือนคนอื่นๆ และโค้งคำนับไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้จิมมีเริ่มรู้สึกถึงตัวตน และใส่สไตล์ของตัวเองเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม เบอร์เคนสตัดท์เล่าว่า ชีวิตนิคอลหลังจากนั้นกลับพลิกผันแบบสุดๆ

“จุดดิ่งแรกสำหรับเขาก็คือ วงสองวงแรกหลังไปร่วมงานกับเดอะ บีเทิลส์ ขายแผ่นแทบไม่ได้เลย แม้จะได้ออกทั้งรายการวิทยุ, รายการโทรทัศน์” เบอร์เคนสตัดท์ เล่า “ตัวเพลงเป็นการผสมผสานดนตรีร็อคแอนด์โรลล์และแจ๊ซซ์ที่มากเกินไป ผมคิดว่าคนอยากฟังเพลงร็อคสไตล์บริทิช อินเวชัน (British Invasion) ตามยุคสมัย เขาหมดเงินไปกับวงเยอะมาก แล้วก็ล้มละลาย ภรรยาฟ้องหย่า ตัวเองก็เหินห่างกับลูกชาย และต้องไปอาศัยในห้องใต้ดินที่บ้านแม่

“สื่อสร้างเขาขึ้นมา แล้วก็ฉีกเป็นชิ้นๆ อย่างสนุกสนาน เรื่องสุดท้ายที่เขียนถึงเขาก็เป็นเรื่องเขาสิ้นไร้ประดาตัวได้ยังไง” เบอร์เคนสตัดท์ เผย “พอลได้อ่านแล้วก็โทรหาปีเตอร์ แอเชอร์ (Peter Asher) จากวง Peter and Gordon แล้วบอกว่า ‘เฮ้… บางทีนายน่าจะหางานเล็กๆ น้อยๆ ให้จิมมีทำในทัวร์หนหน้านะ เขาเป็นมือกลองที่ดีและจากที่ผมอ่าน เขาน่าจะอยากได้ความช่วยเหลือ’” แม้จะได้งานจากปีเตอร์แอนด์กอร์ดอน แต่นิคอลก็กลายเป็นคนว่างงานและถังแตกอีก และเมื่อ The Spotnicks วงเพลงบรรเลงจากสวีเดนเสนองานให้ในปี 1965 เขารีบคว้าไว้ทันที

“จิมมีไม่พูดตรงๆ” เบอร์เคนสตัดท์ เผย “เขาเดินออกจากประตูแล้วก็หายไปเลย เดอะ สป็อทนิคส์พาเขาออกทัวร์ไปทั่วโลก และให้เขาเป็นสมาชิกวงเต็มตัว แต่เขาเล่นยาหนักมาก ตอนที่ทางวงไปเล่นยาวๆ ที่เม็กซิโก เขาก็หายตัวไปอีก”

จนปี 1984 นิคอลถึงปรากฏตัว ด้วยการไปร่วมงานพบปะแฟนๆ เดอะ บีเทิลส์ ที่อัมสเตอร์ดัม ซึ่งโปรโมเตอร์บันทึกเทปการสัมภาษณ์เขา ร่วมกับเบอร์เคนสตัดท์ที่หลังเวทีเอาไว้ “จิมมีเคยรู้สึกว่าเขามีโอกาสจะได้งานนี้แทนริงโก” เบอร์เคนสตัดท์ เล่า “เขารู้สึกว่าไบรอัน เอ็พสไตน์ (Brian Epstein) กับคนอื่นๆ แสดงการต่อต้านบางอย่างเพื่อไม่ให้เขาเป็นสมาชิกเดอะ บีเทิลส์ เขามักพูดว่าการได้เป็นเดอะ บีเทิลส์เป็นทั้งคำสาปและการให้พร ทางหนึ่งมันทำให้คนรู้จักว่าเขาเป็นใครมากขึ้น แต่อีกทาง เขาเชื่อว่าเอ็พสไตน์ขึ้นบัญชีดำเขาไว้ หลังจบงานนั้น”

นิคอลไม่ได้พูดกับสื่อเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งลูกชายที่เป็นวิศวกรทางด้านเสียงในลอนดอน ก็ไม่แน่ใจว่าพ่อตัวเองยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว

ถึงไม่ได้อยู่ในวง เขาก็เข้ามามีส่วนร่วมกับสี่เต่าทองอีกจนได้ ขณะที่กำลังเดินเล่นกับสุนัขในตอนบ่ายของปี 1967 พอลเล่าว่า เมื่อวงถามนิคอลว่า เป็นยังไงบ้างสำหรับการจัดการกับความกดดันในการทัวร์ เขาจะตอบว่า “มันดีขึ้นเรื่อยๆ” (It’s getting better) และพอลกับเล็นน็อนก็เอาวลีที่ว่ามาแต่งเป็นเพลง Getting Better ในอัลบัม gt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band เมื่อปี 1967

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง เรื่องเล่าชาวร็อค 13 วันในหัวโขน The Beatles ของจิมมี นิคอล คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 6-7 มิถุนายน 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.