etc FeaturesFEATURESดนตรีมีเหตุอำลา อาลัย

อำลา-อาลัย เพอร์ซี สเลดจ์ อีกหนึ่งเสียงงดงามที่จากไป

14 เมษายนที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่หลายๆ คนกำลังสนุกสนานไปกับเทศกาลสงกรานต์ วงการเพลงก็ต้องพบกับเหตุการณ์เศร้าสลดอีกครั้ง เมื่อเพอร์ซี สเลดจ์ เจ้าของเสียงร้องที่แสนนุ่มนวล และเป็นผู้ร้องเพลง When a Man Loves a Woman ต้นฉบับ ที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ท ในปี 1966 ต้องจากไปด้วยวัย 74 ปี โดยนักร้องอาร์แอนด์บี, โซลรายนี้ ป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ ซึ่งในปี 2014 เคยได้รับการผ่าตัดมาแล้วครั้งหนึ่ง

สเลดจ์ คือนักร้องที่ได้รับยกย่องให้เป็น ราชันย์แห่งเพลงโซลช้าๆ รวมทั้งเป็นหนึ่งในนักร้องเพลงโซลระดับสตาร์ดังจากทางใต้ และเป็นนักร้องเสียงละมุนที่ร้องเพลงได้อย่างถึงอารมณ์อีกคนหนึ่ง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาก็ต้องผ่านอะไรมามากมาย ต้องทำงานเป็นคนเก็บฝ้าย และพนักงานในโรงพยาบาลตามลำดับ แล้วก็ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ร้องเพลงตามคลับ และสถานศึกษาต่างๆ “ผมร้องเพลงในทุกๆ สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น เพลงของเดอะ บีเทิลส์, เอลวิส เพรสลีย์, เจมส์ บราวน์, วิลสัน พิคเก็ทท์, งานของโมทาวน์, แซม คุก หรือว่าเดอะ แพลตเตอร์ส” เขากล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์หนหนึ่ง

เพลงฮิต When a Man Loves a Woman เป็นการทำงานบันทึกเสียงครั้งแรกของเขากับสังกัดแอตแลนติค เรคอร์ดส์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากคนไข้คนหนึ่งในโรงพยาบาล แนะนำเขาให้รู้จักกับโปรดิวเซอร์ ควิน ไอวี เพลงนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ในปี 1966 และขายได้กว่าล้านก็อปปี กลายเป็นเพลงยอดขายระดับแผ่นเสียงทองคำแผ่นแรกของบริษัท สเลดจ์พูดถึงการแต่งเพลงนี้ว่า “มหัศจรรย์สุดๆ” ส่วนอัลบั้มชื่อเดียวกันกับชุด ก็ออกตามมาในปีเดียวกัน

สเลดจ์มีอัลบั้มกับแอตแลนติคในยุค 60 ออกมาอีก 3 ชุดคือ Warm and Tender Soul, The Percy Sledge Way และ Take Time to Know Her แต่ก็ไม่มีเพลงที่ทำได้เท่ากับที่ When a Man Loves a Woman ทำได้อีก เพลงนี้ยังกลายเป็นไฮท์ไลท์สำคัญของวงการเพลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกนำไปใช้ในหนังเรื่องต่างๆ ช่วงยุค 80 เช่น The Big Chill และ Platoon แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การนำเอากลับมาร้องใหม่โดย ไมเคิล โบลตัน เมื่อปี 1991 ที่นอกจากจะขึ้นอันดับ 1 แล้ว ยังทำให้โบลตันได้รางวัลแกรมมีไปครองด้วย รวมไปถึงถูกนิตยสารโรลลิง สโตนยกให้เป็นเพลงอันดับ 35 จากการจัดอันดับ 500 เพลงยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร

แม้เครดิตในการแต่งจะตกเป็นของสองเพื่อนร่วมวงของสเลดจ์ในยุคแรกๆ คัลวิน ลิวอิส – เบส และ แอนดรูว์ ไรท์ – ออแกน แต่สเลดจ์ก็พูดเสมอๆ ว่า เมโลดีนั้น “ผมฮัมมาตลอดชีวิต กระทั่งในสมัยที่เก็บและตัดฝ้าย” แต่เพราะไม่ได้รับเครดิตในการร่วมแต่งเพลงนี้ ทำให้เขาไม่ได้รับค่ารอยัลตี้เลย “เป็นการตัดสินใจที่ห่วยที่สุดในชีวิตผม แต่ผมก็ไมรู้สึกขมขื่นอะไร” เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในตอนอายุ 25 ปี “มันเป็นความต้องการของพระเจ้า ที่ท่านประทานเพลงนี้ให้กับผม แต่ถ้าผมมีโอกาสอีกครั้ง ผมจะไม่ทำแบบนั้น เพราะผมยังมีลูกๆ ของผม”

เพอร์ซี สเลดจ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1940 ที่เลห์ตัน, อลาบามา เมืองเกษตรกรรมที่ไม่ค่อยรุ่งเรืองนัก และพัฒนาการร้องเพลงจากการเป็นนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ แล้วก็ถูกค้นพบโดยไอวีในปี 1965 ซึ่งบรรดาคนไข้ในโรงพยาบาลมักจะบอกกับสเลดจ์ว่า “นายน่าจะไปอัดแผ่นเสียงนะ” และเขาก็ได้บันทึกเสียงจริงๆ ที่สตูดิโอใกล้ๆ เชฟฟิลด์ ในอลาบามา ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในชีวิตของสเลดจ์

ความสำเร็จระดับแผ่นเสียงทองคำ ทำให้สเลดจ์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีเพลงฮิตตามมาอย่าง I’ll Be Your Everything นอกจากนี้เขายังได้รับการจารึกชื่อในหอประกาศเกียรติคุณร็อคแอนด์โรลล์เมื่อปี 2005 และมีแผนจะเปิดคอนเสิร์ตสุดท้ายในชีวิตปีหน้า แต่ก็มาจากไปเสียก่อน ทำให้อัลบั้ม The Gospel of Percy Sledge ที่ออกเมื่อปี 2013 กลายเป็นงานชุดสุดท้ายของเขาด้วย

และไม่ใช่แค่แฟนเพลงที่ชื่นชม ศิลปิน-นักดนตรีอย่าง บิลลี โจล, เจมส์ เทย์เลอร์, โบ ดิดลีย์ ก็ให้การยกย่องเขาเช่นกัน กระทั่งสตีเวน แวน แซนด์ท แห่งวง ดิ อี สตรีทแบนด์ ก็เคยขอให้สเลดจ์ มาร้องเพลง When a Man Loves a Woman ในงานแต่งงานของเขาเมื่อปี 1982

และวันนี้ก็ไม่มีผู้ชายคนนี้อีกแล้ว เพอร์ซี สเลดจ์

จากเรื่อง เพอร์ซีิ สเลดจ์ อีกหนึ่งเสียงงดงามที่จากไป โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:etc Features

Comments are closed.